วันศุกร์ที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2554

บริษัท เมืองไทยประกันภัย แข่งประกันภัยรถยนต์ ขึ้นอันดับ 7


ท้าชน ท็อปไฟว์ ปรับค่าเบี้ย-บริการสู้ โหมขายชั้น1ผ่านตัวแทนรีครูตทัพใหม่เพิ่ม

     ปีนี้ “บริษัท เมืองไทยประกันวินาศภัย จำกัด (มหาชน)” ประกาศเป้าหมายชัดเจน ยังคงติดกลุ่มบริษัท ประกันภัยที่มีเบี้ยรับรวมมากที่สุด 5 อันดับแรกของประเทศไทย (Top 5) ในอันดับ 5 เช่นเดียวกับปีที่ผ่านมาด้วยเป้าหมายเบี้ยรับรวมประมาณ 5,325 ล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้นประมาณ 15% หรือคิดเป็น 2 เท่าของธุรกิจประกันวินาศภัย ซึ่ง “นวลพรรณ ล่ำซำ” กรรมการผู้จัดการยอมรับว่าเป็นเป้าหมายที่ท้าทายมาก

บุกรถยนต์ปรับเบี้ยชน “ท็อปไฟว์”เสริมทัพตัวแทนพันคนขายชั้น 1

     แผนการขยายธุรกิจหลักๆ จะบุกประกันภัยรถยนต์เพิ่มขึ้นเพิ่มสัดส่วนเป็น 44% หรือคิดเป็นเบี้ยประมาณ 2,325 ล้าน บาท ขณะที่เบี้ยประกันไม่ใช่รถยนต์ (นอน มอเตอร์) จะมีสัดส่วน 56% หรือคิดเป็นเบี้ยประมาณ 3,000 ล้านบาทเทียบกับปีที่ผ่านมาสัดส่วนเบี้ยรถยนต์และนอน มอเตอร์อยู่ที่ 42:48 ของเบี้ยทั้งหมด 4,925 ล้านบาท ในปี 2553 ที่เติบโตเพิ่มขึ้น 8% เทียบกับปี 2552

      “เราคงไม่สามารถหนีประกันภัยรถยนต์ได้ รถยนต์เป็นตัวชี้วัดการเติบโตของ เศรษฐกิจ ในปีที่ผ่านมารถยนต์เติบโตมาก ปีนี้จะขยายต่อเนื่องอีกทำให้เบี้ยรถยนต์โตตาม ปีก่อนเราไม่ขยายรถยนต์เยอะแต่ปีนี้มองประกันรถยนต์สำคัญ การทำรถยนต์สิ่งสำคัญต้องคุมต้นทุน ขั้นตอนต่างๆ ในการเคลมให้ได้ เราไม่ใช่บริษัทประกันภัยที่เอาเบี้ยรถยนต์เข้ามาเพื่อแคชโฟว์อย่างเดียวต้องให้มีกำไรด้วย ประกันรถยนต์ปีนี้เราจะให้แข่งขันได้ตั้งแต่การตั้งค่าเบี้ยเลย เน้นกลุ่มรถที่มีกำไร อัตราสินไหมทดแทน (Loss Ratio) ต่ำ” นวลพรรณ กล่าว

     แผนหลักจะดูราคาเบี้ยประกันภัยรถยนต์ให้เทียบเท่ากับบริษัทประกันภัยชั้นนำ พัฒนาบริการต่างๆ ให้ลูกค้าได้รับความสะดวกและพอใจมากขึ้น อาทิ ด้านการรับประกันภัยให้อำนาจสำนัก งานสาขาต่างๆ สามารถออกกรมธรรม์ได้ทันที ในขณะที่สินไหมทดแทนนำระบบไอทีเข้ามาใช้ในการทำเคลม ลูกค้าและตัวแทน สามารถทราบสถานการณ์ซ่อมผ่านเว็บไซต์ได้ หากเป็นการซ่อมที่ไม่ต้องเปลี่ยนอะไหล่วงเงินไม่เกิน 10,000 บาทสามารถ อนุมัติการซ่อมได้ทันทีภายใน 1 ชม.ทำให้การสั่งซ่อมเร็ว ซึ่งปัจจุบันมีอู่e-claim 366 อู่จากทั้งหมด 392 อู่ครอบคลุมทั่วประเทศแล้ว

      “นวลพรรณ” กล่าวว่า การขยายประกันภัยรถยนต์จะเน้นประกันประเภท 1 (ประกันชั้น 1) ประกันพ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ (ประกันภาคบังคับ) รวมถึงประกันภัยแบบพิเศษตระกูลพลัสต่างๆ ยังคงมีอยู่ มุ่งเน้นผ่านช่องทางตัวแทนและสำนักงานตัวแทนเนื่องจากเป็นช่องทางที่ทำกำไรได้ค่อนข้างดี ความเสี่ยงกระจาย กอปรกับธรรมชาติของตัวแทนจะขายประกันภัยรถยนต์อยู่แล้ว จะรีครูตตัวแทน ใหม่เพิ่มขึ้นอีกรวมเป็น 4,000-5,000 คนจากปัจจุบันมีอยู่ 3,500 คน เพิ่มสำนัก งานตัวแทนอีก 50 แห่งรวมเป็น 367 แห่ง โดยปีนี้ตั้งเป้าหมายการเติบโตของช่องทางตัวแทน และ สำนักงานตัวแทน 16%
เพิ่มพันธมิตรใหม่กลุ่มแมส 3-4 รายทั้งห้างสรรพสินค้า/สายการบิน

      “นวลพรรณ” กล่าวว่า นอกจากการขยายประกันภัยรถยนต์แล้ว บริษัทยังเน้นขยายประกันนอน มอเตอร์ต่างๆ ด้วยผ่าน ช่องทางจำหน่ายต่างๆ ซึ่งนอกจากตัวแทนและโบรกเกอร์แล้ว ยังมีช่องทางผ่านธนาคาร โดยเฉพาะกสิกรไทย (K Bancassurance) วางเป้าหมายการเติบโต ไว้ที่ 14%, เพิ่มพันธมิตรใหม่อีกประมาณ 3-4 รายเป็นกลุ่มตลาดแมส ได้แก่ห้างสรรพสินค้า, สายการบินซึ่งจะเซ็นสัญญา กันประมาณเดือนเมษายนและพฤษภาคมนี้

     ขยายความร่วมมือพันธมิตรเดิมนำแบบประกันใหม่ๆ ขายเพิ่ม เช่น โครงการ Central Smart insure นอกจากประกันพีเอ, ประกันพ.ร.บ.แล้วยังมีแบบประกันที่เป็นไปตาม Lifestyle ของลูกค้า ได้แก่ ประกันเพชร ประกันกอล์ฟ ประกันสัตว์เลี้ยง เป็นต้น ปีนี้ตั้งเป้าหมายเบี้ยประกันจากเซ็นทรัล 50 ล้านบาท, คาร์ฟูร์ กำลังเจรจากับเจ้าของใหม่อยู่เพื่อขยายธุรกิจร่วมกันต่อไป, นกแอร์ตั้งเป้าหมายเบี้ยประกัน 30 กว่าล้านบาทเป็นประกันพีเอ, ซิงเกอร์จะขยายมากขึ้นเช่นกันตั้งเป้าหมายเบี้ยปีนี้ 20-30 ล้านบาท
นอกจากนี้ ยังจะขยายศูนย์บริการเพิ่มอีก 8 แห่งรวมเป็น 16 แห่ง

พร้อม! ปีนี้เบี้ยประกันรถเพิ่มอีก 300 ล้านขยับอีก 1 อันดับ ยึดที่ 7 เมืองไทย

      “ชูพรรณ โกวานิชย์” รองกรรมการผู้จัดการกล่าวเสริมถึงการขยายประกันภัยรถยนต์ว่า เนื่องจากช่วง 2 ปีที่ผ่านมาบริษัทปรับพอร์ตใหม่หลังจากนำกฎชำระเบี้ยประกันก่อนกรมธรรม์คุ้มครอง (cash before cover) จึงไม่บุกประกันรถยนต์มากนักเพื่อให้มอเตอร์ พาร์ตเนอร์ และตัวแทน นายหน้าปรับตัว แต่มาถึงปีนี้เมื่อทั้ง 2 ช่องทางปรับตัวได้แล้วจึงจะเริ่มบุกตลาดต่อ ซึ่งที่ผ่านมาช่อง ทางตัวแทนนายหน้าจะขายประกันชั้น 1 ได้ดี Loss Ratio ยังต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน 60% อยู่ที่ระดับ 50% ต้นๆ แต่ในช่องทาง motor พาร์ตเนอร์ประกันชั้น 1 ยังไม่ดีนัก อัตราสินไหมทดแทนเกิน 60%

     ดังนั้น ปีนี้การบุกประกันภัยรถยนต์ ในส่วนของประกันชั้น 1 จะเพิ่มทางเลือก ให้กับลูกค้ามากขึ้นในเรื่องของการร่วมรับผิดชอบค่าเสียหายส่วนแรก (Deductible) ให้เลือกตั้งแต่ 3,000-5,000 บาทจากเดิมไม่ได้เปิดกว้างเรื่องนี้ โดยประกัน ชั้น 1 จะมุ่งให้ทางมอเตอร์ พาร์ตเนอร์ขยายให้มากขึ้นขณะเดียวกันก็เสริมสินค้า ประกัน 2 พลัสให้กับตัวแทนนายหน้าได้ขายเป็นทางเลือกให้กับลูกค้า

      “จริงๆ ปีนี้ตั้งเป้าเบี้ยรถยนต์เพิ่มขึ้นอีก 300 ล้านบาทจากปีที่ผ่านมา โดยช่องทางตัวแทนจะเป็นงานที่มีกำไร ขณะที่เบี้ยจากช่องทางอื่นอาจจะทำไม่ได้เพราะ ตัวแทนมีศักยภาพและรู้จักลูกค้าดี ทำให้งานที่ได้มีศักยภาพ ราคาเบี้ยประกัน ภัยรถชั้น 1 ของเราอยู่ที่ 18,000-20,000 บาท จะปรับราคาใหม่ให้สอดคล้องกับสภาวะตลาดและแข่งขันได้ในกลุ่มบริษัทชั้นนำในลูกค้าบางประเภทที่ความเสียหายสูงก็จะปรับเพิ่มเบี้ย เช่น ในกลุ่มลูกค้า ของมอเตอร์ พาร์ตเนอร์เริ่มปรับเบี้ยตั้งแต่ปลายปีที่แล้วขึ้นมาอีก 5%”

     ปีที่ผ่านมา เบี้ยประกันภัยรถยนต์ของบริษัทอยู่ในอันดับ 8 ของประเทศไทย คาด ว่าเมื่อบุกตลาดอย่างหนักปีนี้อาจจะขยับขึ้นมาอยู่อันดับ 7 ได้ ซึ่งปีที่ผ่านมา บริษัท มีกำไรสุทธิ 393.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 136 ล้านบาท หรือ 53% เทียบกับปี 2552

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น